Loading...

About

The History of the Chavanich Property and How Warehouse 30 was Created

History of Warehouse30 and the neighborhood

3 title deeds

โฉนดทั้ง3

โฉนดทั้ง3

โครงการ Warehouse30 มีเนื้อที่ประมาณ 3.5 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยเจริญกรุง 30 และ 32 ซึ่งเกิดจากการรวมที่ดินโฉนด 3 ฉบับเข้าด้วยกัน เมื่อเราลองศึกษาประวัติความเป็นมาของโฉนดและพื้นที่โดยรอบ ก็พบว่าที่มีเรื่องราวและความเกี่ยวโยงกันอย่างน่าทึ่ง คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ที่มีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

The Portuguese Embassy

สถานทูตโปรตุเกส

สถานทูตโปรตุเกส

เราจะเริ่มเรื่องราวจากเพื่อนบ้านของเราที่อยู่ติดกัน ซึ่งก็คือสถานทูโปรตุเกส ปัจจุบันแนวกำแพงด้านหน้าสถานทูตทีมี่ผลงานศิลปะขนาดใหญ่ของวีลส์ (Vhils) ชื่อแท็กของศิลปินกราฟฟิตีชื่อดังชาวโปรตุเกส Alexandre Manuel Dias Farto ใครจะรู้บ้างว่าที่ดินเบื้องหลังแนวกำแพงติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เคยเป็นที่พักของ “องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนาม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารรัชกาลที่1 แล้วหนีกลับญวนในเวลาต่อมา

.

หลังสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 ชาวตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเริ่มเข้ามาติดต่อ ค้าขายในยุคกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งคือโปรตุเกส ต่อมารัชกาลที่2 มีพระราชประสงค์ให้นายพานิชโปรตุเกส มีที่ตั้งห้างค้าขายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จะได้ผูกพันทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงโปรตุเกสต่อไปด้วย จึงพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นบ้านที่องเชียงสือเคยอยู่มาแต่ก่อน ให้เป็นที่สร้างอู่ต่อเรือและที่ตั้งห้างซึ่งกลายเป็นสถานกงสุลและสถานทูตโปรตุเกสโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นถิ่นพำนักทางการทูตที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

.

ตอนนั้นนายคาร์ลอส เดอ มานูแอล ซิลเวียรา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงสุลโปรตุเกสประจำไทย ซึ่งคงจะปฏิบัติตนเป็นที่ถูกอัธยาศัยคนไทยตลอดจนเจ้านายเป็นอย่างดี จึงปรากฏว่ารัชกาลที่2 พระราชทานตำแหน่งให้เป็น หลวงอภัยพานิช พระราชทานเครื่องยศให้เหมือนขุนนางไทย นอกจากนี้เขายังป็นคนใจคอกว้างขวางอยู่ในหมู่พวกฝรั่ง แม้ตัวเองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เมื่อพวกโปรเตสแตนต์แรกเริ่มเข้ามาไทย ก็ได้อาศัยที่ทางนายคาร์ลอส เดอ มานูแอล ซิลเวียราแบ่งให้เช่าอยู่

The American Baptist Foreign Mission Society (ABFMS)

คณะอเมริกันแบ๊บติสท์ บอร์ด

คณะอเมริกันแบ๊บติสท์ บอร์ด

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คณะอเมริกันแบ๊บติสท์ บอร์ด ได้ส่งมิชชันนารีชาวอเมริกันนิกายโปรเตสแตนท์หลายชุดเข้ามาในสยาม เพื่อเตรียมตัวสำหรับภารกิจเผยแพร่ศาสนาต่อไปในจีนซึ่งขณะนั้นยังปฏิเสธคริสต์ศาสนา สาธุคุณจอห์น เทย์เลอร์ โจนส์ กับภรรยาของเขาเอลิซา กริว โจนส์ นับเป็นมิชชันนารีอเมริกัน ที่มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาเผยแผ่ศาสนา  โดยทั้งสองได้เช่าเรือนพักอยู่ในที่ดินด้านหลังของสถานกงสุลโปรตุเกส จากการช่วยเหลือของคาร์ลอส เดอ มานูแอล ซิลเวียรา ต่อมาเมื่อผู้สอนศาสนาเดินทางมาในสยามมากขึ้น คณะเผยแผ่ได้สร้างโบสถ์ ที่พัก โรงพิมพ์ โรงหล่อ และห้องสมุด

.

มีบันทึกว่า ดร.แดน บีช แบรดลีย์ ได้นำแท่นพิมพ์ภาษาไทยชุดแรกไปยังคณะแบ๊บติสต์บนถนนกัปตันบุชระหว่างปี ค.ศ. 1835-1838 โรงพิมพ์ก็เริ่มพิมพ์แผ่นพับ ใบปลิว และหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยทั้งหมด นิกายโปรเตสแตนต์ แบ๊บติสต์ คองกรีเกชันนัล และเพรสไบทีเรียนทุกนิกายตระหนักดีว่าสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการชนะใจผู้คนเปลี่ยนใจเลื่อมใสในศาสนา

Captain Bush

กัปตันจอห์น บุช

กัปตันจอห์น บุช

กัปตันจอห์น บุช เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยเมื่อประมาณ ค.ศ.1853 รัชสมัยร.4 ดำรงตำแหน่งเจ้าท่า สังกัดกรมท่า มีความรู้ความสามารถ และความฉลาดเฉลียวในการปฏิบัติราชการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อย่างขุนนางไทยตามลำดับ คือ หลวงสาครหรือหลวงสุรสาคร พระวิสูตรสาครดิฐ และพระยาวิสูตรสาครดิฐ

.

ในรัชสมัยรัชกาลที่5 กัปตันบุชมีโอกาสสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิด ในฐานะผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสที่นั่งต่างๆ หลายครั้ง ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น ครั้งเสด็จสิงค์โปรและอินเดีย ค.ศ.1870 และค.ศ.1871 เป็นต้น จึงเรียกกันว่า “กัปตันบุช” นอกจากนี้ กัปตัน จอห์น บุช ยังประกอบธุรกิจส่วนตัว คือเป็นผู้จัดการก่อตั้งอู่กรุงเทพ หรือBangkok Dock เมื่อปี ค.ศ.1865  ซึ่งเป็นอู่เรือขนาดใหญ่ และเป็นอู่เรือแห่งแรกของพระนคร ท่านมีฐานะรำ่รวยได้สร้างบ้านใหญ่ริมฝั่งแม่นำ้เจ้าพระยาใกล้ที่ทำการกรมเจ้าท่า ปัจจุบันแม้จะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับบ้านของกัปตันบุชหลงเหลืออยู่ แต่สิ่งยังเป็นอนุสรณ์คือ ตรอกที่ตั้งบ้านเรือนของท่าน เรียกว่า “ตรอกกัปตันบุช” ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่าซอยเจริญกรุง30

Celestino Xavier family

ตระกูล Maria Xavier

ตระกูล Maria Xavier

ต้นตระกูล Maria Xavier เป็นชาวโปรตุเกส ชื่อ Joaquim Maria Xavier ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนโบสถ์กาลหว่าร์ในช่วงปีค.ศ.1840 และเข้ารับใช้ในราชสำนักช่วงรัชกาลที่3, 4 และ 5 ต่อมาลูกชายของเขา Luis Maria Xavier มาตั้งรกรากอยู่ในตลาดน้อยหลังโบสถ์กาลหว่าร์ เขาเป็นล่ามให้กรมเจ้าท่าและดำรงตำแหน่ง รองกงสุลโปรตุเกส  อีกทั้งมีกิจการโรงสีข้าวเป็นของตัวเอง ตระกูลMaria Xavier ที่มั่งคั่ง ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ จนมีชื่อของครอบครัวท่านปรากฏอยู่ภายใต้บานกระจกสีภายในโบสถ์จนถึงปัจจุบัน

.

ต่อมาบุตรของ Luis Maria Xavier คือ เซเลสติโน มาเรีย เซเวียร์ (Celestino Maria Xavier) หรือ พระยาพิพัฒน์โกษา  เข้ารับราชการปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ต่อมาดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิตาลี  และมีกิจการส่วนตัว คือโรงสีข้าวและทำธุรกิจที่ดิน โดยท่านเป็นผู้มีส่วนร่วมในการตัดถนนสี่พระยา และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนก่อสร้างและดำเนินกิจการรถไฟที่เริ่มจากสถานีปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี ถึงสถานีมหาชัย เมืองสมุทรสาคร ระยะทาง 33.1 กิโลเมตรนอกจากนี้พระยาพิพัฒน์โกษา ยังเป็นบิดาของมาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์ (Magaret Lin Xavier) แพทย์หญิงคนแรกของไทยอีกด้วย   

Nai Lert Sreshthaputra

นายเลิศ เศรษฐบุตร

นายเลิศ เศรษฐบุตร

นายเลิศผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีนรเศรษฐ ซึ่งแปลว่า “เศรษฐีผู้มีคนรัก” เป็นที่จดจำในฐานะนักธุรกิจผู้มีความคิดก้าวลำ้นำสมัยไม่เหมือนใคร และมีความเฉียบคมทางธุรกิจอย่างหาตัวจับได้ยาก เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในสังคมไทย เขาก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเพื่อนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ขายอุปกรณ์แผ่นเสียง นำเข้ารถยนต์ สร้างสถานีเติมนำ้มัน และสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สัญจรด้วยการให้บริการรถยนต์ รถประจำทาง แท็กซี่ และเรือที่หลากหลาย และเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำเข้าอุปกรณ์ทำน้ำแข็งมาที่กรุงเทพฯ

.

นอกจากนี้นายเลิศยังเป็นนักจัดสรรที่ดิน และสร้างอาณาจักรอสังหา ริมทรัพย์อันกว้างใหญ่ ข้อตกลงที่มีชื่อเสียงของเขาคือการแลกเปลี่ยนที่ดินที่เพลินจิตกับกงสุลอังกฤษซึ่งในตอนนนั้นต้องการย้ายสถานกงสุลใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่านายเลิศจะรับซื้อพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างของสถานกงสุลอังกฤษเดิมทั้งหมดด้วย สถานทูตอังกฤษจึงจะย้ายไปอยู่ที่เพลินจิต ส่วนที่ทำการเดิมของสถานกงสุลนั้นนายเลิศได้นำไปเสนอขายให้กับรัฐบาลไทย ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นอาคารไปรษณีย์ ก่อนจะถูกทุบทิ้งในสมัยรัชกาลที่ 8 เพื่อสร้างเป็นอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ที่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน

.

ดูเหมือนว่านายเลิศจะกว้านซื้อที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ทำการไปรษณีย์ รวมถึงที่ดินทั้งหมดในโครงการWarehouse30 ทั้ง3 โฉนด จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้มาครอบครองพื้นทีรวมถึงโกดังแห่งนี้เพื่อ ใช้เก็บของ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงเขามีอายุ 71 ปี สุขภาพเริ่มถดถอย เมื่อนายเลิศถึงแก่กรรมไม่นานบุตรสาวของนายเลิศ ได้รับมรดกสืบทอดที่ดินผืนนี้มาและขายที่ดินต่อให้นายชวน และนางมานี ชวนิชย์

Mr. Chuan and Mrs. Manee Chavanich

 นายชวน และ นางมานี ชวนิชย์

 นายชวน และ นางมานี ชวนิชย์

นายชวน ชวนิชย์ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อส่งออกแร่ธาตุและวัตถุดิบไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นเช่าตึกแถวอยู่บริเวณตลาดน้อยใกล้ๆกับเซียงกงซึ่งมีขนาดเล็กเกินไป เขาต้องการพื้นที่เพื่อเก็บวัตถุดิบที่มีขนาดใหญ่ก่อนที่จะทำการส่งออก เมื่อนายชวนและนางมานี ชวนิชย์ ผู้เป็นภรรยาได้ทราบเรื่องการขายที่ดินของนายเลิศดังกล่าวจึงสนใจ ตัดสินใจซื้อที่ดินนี้มาพร้อมกับโกดังทั้งแปดหลัง ต่อมาได้ว่าจ้างให้ “นายเม้ง” ออกแบบสร้างอาคารชวนิชย์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 48 ตรอกกัปตันบุช (ซอยเจริญกรุง30) เป็นอาคารสีขาวตั้งอยู่ตรงข้ามโกดังในปัจจุบัน

The Warehouses

โกดังทั้ง8หลัง

หากเดินทางมาถึงโครงการแล้วยังไม่รู้จะเริ่มสำรวจตรงไหน ก็ลองเดินชมโกดังเก่าทั้งแปดหลังที่ในอดีตเคยถูกยึดครองโดนทหารญี่ปุ่น และเหลือรอดจากระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

.

เมื่อลองเทียบจากแผนที่เก่าในอดีตแล้วพบว่าโกดังน่าจะสร้างขึ้นระหว่างช่วงปีค.ศ.1925-1941 แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจุดประสงค์์เดิมของโกดังใช้ทำอะไร สันนิษฐานจากสภาพโดยรอบในอดีตก็อาจจะสร้างเพื่อการเก็บข้าวจากโรงสีข้าวก่อนส่งออกทางเรืิอ เมื่อตอนกองทัพญี่ปุ่นยึดก็ใช้โกดังเก็บสินค้าทั่วไปและไม่เคยโดนระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่อนายชวน ชวนิชย์เป็นเจ้าของ ก็ใช้เป็นโกดังเก็บของ, วัตถุดิบ และ สินค้าอุตสาหกรรม ส่วนโกดังที่ว่างก็ปล่อยเช่าให้กับผู้เช่าจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ในเวลาต่อเมื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของลูกหลานของนายชวนและนางมานี ชวนิชย์ สภาพโกดังดั้งเดิมถูกปรับการใช้งานให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายมาเป็นโครงการWarehouse30 ในปีค.ศ.2016โดยสถาปนิกชื่อดัง โกดังทั้งแปดหลังถูกแปลงโฉมเป็นแกลเลอรี่และร้านค้าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ไม่เคยถูกปล่อยเป็นโกดังร้างอย่างที่ใครๆเข้าใจ